7 ผลเสียต่อสุขภาพจิต จากการใช้งาน Social Media เป็นประจำ

เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 7,119
เขียนโดย :
7 ผลเสียต่อสุขภาพจิต จากการใช้งาน Social Media เป็นประจำ
7 ผลเสียต่อสุขภาพจิต จากการใช้งาน Social Media เป็นประจำ
เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 7,119
เขียนโดย :

7 ผลเสียต่อสุขภาพจิต ที่เกิดขึ้นได้จากการใช้งาน Social Media

หากคุณมีความรู้สึกว่าชีวิตของคุณไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ หากปราศจากการใช้งาน สื่อสังคมออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดีย (Social Media) ก็มีความเป็นไปได้ว่าคุณกำลังตกเป็นเหยื่ออำนาจของ Social Media ที่ส่งผลต่อสาธารณะไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมันส่งผลเสียด้านลบต่อสุขภาพจิตแก่ผู้ใช้งานได้

บทความเกี่ยวกับ Social Network อื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม : Social Network และ Social Media คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ?

โดยเรื่องที่น่ากลัวคือ หลายคนไม่รู้ตัวว่าจิตใจของตนเองเริ่มแย่ลงจากผลของการใช้งาน Social Media มากเกินไป ปัญหาเหล่านี้มีอะไรบ้าง ? มาศึกษากัน

เนื้อหาภายในบทความ

โซเชียลมีเดีย ส่งผลเสียต่อจิตใจของคุณอย่างไร ?
(How does Social Media affect your mind ?)

คุณอาจจะรู้สึกประหลาดใจ หากรู้ว่าผลเสียที่เกิดจากการติด การใช้งาน Social Media มากเกินไปนั้น มีผลต่อทั้งร่างกาย และจิตใจ เนื่องจากโลกโซเชียลนั้น สามารถเปลี่ยนมุมมองที่คุณมองโลกใบนี้ได้ 

ในแง่ดีการเล่น Social Media ก็มีเรื่องราวดี ๆ อยู่มากมาย ซึ่งเวลาที่คุณได้รับรู้เรื่องดี ๆ คุณก็รู้สึกดี โลกนี้ช่างสวยงาม หรือเกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาตัวเอง แต่เรื่องแย่ ๆ บนโลกโซเชียล ก็มีไม่น้อยเหมือนกัน เผลอ ๆ อาจจะมีเยอะกว่าเรื่องดี ๆ ด้วยซ้ำ ที่น่าสนใจคือ แม้จะเป็นเรื่องราวดี ๆ บางครั้งมันก็ให้ผลตรงกันข้าม กลับทำให้ผู้ชมรู้สึกดิ่งยิ่งกว่าเดิม

เหตุผลก็มีหลายอย่าง ลองสังเกตตัวเองดูว่าเราประสบกับปัญหาเหล่านี้หรือไม่ ? ถ้าใช่ล่ะก็ นี่อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณควรใช้เวลากับ Social Media ให้น้อยลง หรือหยุดใช้งานมันไปเลยก็ได้

1.  อาการซึมเศร้า และความวิตกกังวล (Depression and Anxiety)

มีการวิจัยพบว่า ผู้ที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวันไปกับการไถฟีดบนโลกโซเชียล ก็จะได้รับผลกระทบทางอารมณ์ได้ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตย่ำแย่ โดยมีภาวะอาการซึมเศร้า และความวิตกกังวล

สาเหตุก็ไม่ใช่เรื่องที่คาดเดาได้ยาก บนโลกโซเชียล ผู้ใช้งานส่วนใหญ่มักจะแบ่งปันสิ่งที่แชร์อย่างพิถีพิถัน พวกเขาเลือกที่จะแชร์ช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่เขามี จนคุณอดไม่ได้ที่จะคิดเปรียบเทียบกับชีวิตที่คุณมี จนเกิดคำถามตามมาว่าทำไมเราไม่มีอย่างเขา ทำไมพวกเขาดูมีความสุขกันจัง (ซึ่งในความเป็นจริง เขาอาจจะเหนื่อยทำงานเก็บเงินมาทั้งปีเพื่อไปเที่ยว แต่คุณไม่รู้ คุณไม่เห็นหรอกว่าเขาทำงานมาหนักขนาดไหน คุณเห็นแค่ตอนที่เขามีความสุข)

วิธีป้องกันตัวเอง ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ใช้หลักสามัญสำนึกโดยไม่ต้องไปอ่านงานวิจัยก็น่าจะคิดเองได้ นั่นคือลดช่วงเวลาที่จมอยู่ในโลกโซเชียล ให้สั้นลง ไม่ควรใช้เวลากับมันมากกว่า 30 นาทีต่อวัน

และถ้าหากคุณรู้สึกไม่สบายใจหลังจากใช้งาน Social Media ส่วนหนึ่งก็มาจากเนื้อหาที่ปรากฏอยู่บนแพลตฟอร์ม คุณอาจเลือกพิจารณาสื่อ หรือผู้คนที่คุณได้กดติดตามเอาไว้ ใครที่ชอบแบ่งปันเนื้อหาที่คุณอ่านแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ก็กดเลิกติดตาม หรือปิดการมองเห็นโพสต์จากบุคคลดังกล่าวไป เพื่อให้เหลือแต่เรื่องราวสนุกสนานจากสิ่งที่คุณชื่นชอบแทน เช่น ความเคลื่อนไหวของศิลปินคนโปรด หรือแมวสุดน่ารักที่เพื่อนของคุณเลี้ยงไว้

โลกโซเชียล ส่งผลให้เกิด อาการซึมเศร้า และความวิตกกังวล (Depression and Anxiety)
ภาพจาก https://www.freepik.com/free-vector/depression-concept-illustration_10386542.htm

2. โดนกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying)

ก่อนจะมี Social Media การกลั่นแกล้งกันเป็นบางสิ่งที่เกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการเผชิญหน้ากันเท่านั้น แต่ต้องขอบคุณโลกโซเชียล (เหรอ ?) ที่ทำให้ผู้คนสามารถกลั่นแกล้งกันแบบออนไลน์ได้ ไม่ว่าเราจะรู้จักเขาดีหรือไม่ ? อาจจะไม่เคยเจอหน้ากันด้วยซ้ำ แต่เราทุกคนน่าจะรู้กันดีจากข่าวมากมายว่า การโดนกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต หรือ Cyberbullying นั่นสามารถทำอะไรคน ๆ หนึ่งได้มาก มีคนดังที่มีชื่อเสียง ถูกด่าท่อทางอินเทอร์เน็ตจนฆ่าตัวตายเสียชีวิตไปแล้วหลายราย

ในขณะที่โลกโซเชียล ก็จะช่วยให้เราพบปะเพื่อนใหม่ ๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่มันก็เปิดโอกาสให้เหล่าคนใจร้ายเข้าถึงตัวเหยื่อได้ง่ายขึ้นเช่นกัน ผู้ร้ายบางคนใช้วิธีสร้างโปรไฟล์ปลอมในการเข้าถึงเหยื่อ เพื่อแสวงหาข้อมูล และความลับ ก่อนจะหักหลังเอาความลับมาประจานเหยื่อให้เกิดความอับอายบนโลกออนไลน์

บ่อยครั้งที่การกลั่นแกล้งออนไลน์เหล่านี้มักจะทิ้งบาดแผลลึกเอาไว้ในจิตใจของเหยื่อ จนเหยื่อรู้สึกกดดันทำร้ายตัวเอง หรือแม้แต่การทำอัตวินิบาตกรรม หากเลวร้ายกว่านั้นก็จะทำร้ายผู้อื่นที่บริสุทธิ์ไปด้วยเพื่อแก้แค้นต่อสังคม

การกลั่นแกล้งออนไลน์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับเด็กเท่านั้น แม้แต่ผู้ใหญ่ก็สามารถตกเป็นเหยื่อได้เช่นกัน บ่อยครั้งที่คุณกลายเป็นตัวตลกบนโลกออนไลน์โดยที่คุณไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ

การเล่นโซเชียลมีเดีย มีโอกาส โดนกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying)
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/stop-bullying-concept_9005191.htm

3. FOMO (Fear of Missing Out)

FOMO ย่อมาจากประโยค "Fear of Missing Out" เป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่มาพร้อมกับความเติบโตของโลกโซเชียล และเป็นหนึ่งผลเสียที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสังคมอย่างกว้างขวาง

อาการ FOMO นั้นเป็นปรากฏการณ์ที่คุณรู้สึกหวาดกลัวที่จะพลาดโอกาสประสบการณ์ดี ๆ ที่คนอื่นได้รับ ตัวอย่างเช่น คุณพยายามเช็ค Facebook ตลอดเวลาว่า มีใครกำลังทำอะไรสนุก ๆ อยู่โดยที่คุณไม่ได้ร่วมในเหตุการณ์นั้นอยู่หรือเปล่า ? และคุณจะรู้สึกแย่ที่ไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้นกับเพื่อน ๆ ด้วย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ที่น่ากลัวคือ ความ FOMO จะทำให้คุณพยายามใช้งาน Social Media มากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะไม่อยากพลาดโอกาสดี ๆ แต่สุดท้ายคุณก็จะพลาดโอกาสอยู่ดี และรู้สึกแย่วนลูปไปกลับไปซ้ำไปซ้ำมา

FOMO (Fear of Missing Out)
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/mental-health-awareness-concept_7974025.htm

4. คาดหวังสิ่งที่ไม่เป็นจริง (Unrealistic Expectations)

เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ปรากฏในโลกโซเชียล ก็มักจะมีแต่สิ่งดี ๆ มิตรภาพที่งดงามที่เกินจริง เพราะผู้ใช้มักจะแบ่งปันแต่ด้านที่ดีที่สุดในชีวิตออกมา ไม่มีใครอยากแสดงด้านมืดออกมาให้คนอื่นเห็นอยู่แล้ว

คุณเห็นรูปผู้คนทำความดี, การแสดงความรักที่ช่างดูบริสุทธิ์, การช่วยเหลือผู้อื่น ฯลฯ แต่ในความเป็นจริง เข้าอาจจะทำร้ายภรรยาลับหลัง, เอาเงินที่ได้จากการธุรกิจผิดกฏหมายมาทำบุญ หรือสร้างเปลือกคนดี เพื่อให้ทุกคนเชื่อว่าเขาเป็นมนุษย์ที่ดี

มันเป็นเรื่องยากที่จะตรวจสอบว่าเรื่องราวเหล่านั้นเป็นเรื่องจริงหรือเปล่า ? มีอาชญากรที่อาศัยช่องโหว่นี้ในการแสวงหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง ที่พบได้บ่อยก็อย่างการขอรับบริจาคเพื่อช่วยเหลือเหยื่อ หรือสัตว์บาดเจ็บ พอคุณเห็นว่าในโปรไฟล์เขาดูเป็นคนดี คุณก็หลงเชื่อ และบริจาคเงินให้พวกเขาอย่างง่ายดาย หรือตกเป็นเหยื่อของการเข้ามาผูกมิตร ก่อนจะต้มตุ๋นหลอกเอาเงินคุณไป หรือที่เรียกว่า "Romance Scam"

จงจำเอาไว้ว่า "อย่าเชื่ออะไรที่เห็นบนโลกโซเชียล อย่างง่าย ๆ โดยเด็ดขาด"

5. อคติต่อรูปร่างหน้าตาของตนเอง (Negative Body Image)

หากคุณเข้าไปดูรูปภาพของบัญชีที่มีชื่อเสียงบน Instagram คุณจะพบเจอแต่คนสวย คนหล่อที่สวมใส่แฟชั่นราคาแพง และมีร่างกายที่สวยงามตามอุดมคติ ผู้ชายต้องสูงมีกล้ามซิกแพค ผู้หญิงเอวคอดมีหน้าอก มีสะโพก หน้าเป๊ะตลอดเวลา

ภาพที่ดูสวยงามเหล่านั้น ทำให้หลายคนมองข้ามความเป็นจริงว่าไม่มีใครที่จะดูสวยงามได้ตลอดเวลา จนเกิดคำถามต่อตัวเองว่าทำไมรุปร่างหน้าตาของเราถึงแตกต่างกันขนาดนั้น จงอย่าลืมความเป็นจริงว่าไม่มีใครที่ตื่นนอนมาตอนเช้าแล้วหน้าจะเป๊ะราวกับซุปเปอร์โมเดล หรือจะมีหุ่นฟิตเปรี๊ยะได้โดยไม่ต้องออกกำลังกายอย่างมีวินัย บางคนถึงกับเลือกทางที่อันตรายต่อสุขภาพ เพียงเพื่อให้ร่างกายของตัวเองดูน่าสนใจบนโลกโซเชียล ด้วยซ้ำไป

อย่าให้ความงามแต่เปลือกในโลกโซเชียล เข้ามาทำให้คุณเกิดความไม่มั่นใจในร่างกายของตัวคุณได้ มองหารอบตัวคุณ คุณน่าจะพบว่าทุกคนมองว่าคุณสวยงามในแบบที่คุณเป็นอยู่แล้ว โดยไม่ต้องพยายามต้องเลียนแบบใคร

6. ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ (Unhealthy Sleep Patterns)

เราได้อธิบายถึงปัญหาของการใช้งาน Social Media ในแต่ละวันเป็นเวลานานว่าส่งผลให้ อาการซึมเศร้า และความวิตกกังวลได้ไปแล้ว อาการดังกล่าวนอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพจิตแล้ว ยังส่งผลต่อคุณภาพการนอนได้อีกด้วย

ตามปกติแล้ว แต่ละคนจะมีรูปแบบการนอนตามนาฬิกาชีวิตในร่างกายอยู่ แต่เมื่อคุณเริ่มติดโลกโซเชียล คุณก็จะเริ่มมีนิสัยเล่นมัน ก่อนนอน เช่น คุณคิดว่าจะใช้เวลาสัก 5 นาที ในการดูว่ามีแจ้งเตือนอะไรบ้างบน Facebook แต่รู้สึกตัวอีกทีก็ผ่านไปชั่วโมงกว่าแล้ว หรือจมไปกับการไถทวิตเตอร์ไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องที่ความจริงคุณอาจจะไม่ได้สนใจมันด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพระาตัวอัลกอริทึมของ Social Media ทุกค่ายพยายามออกแบบมาให้นำเสนอเนื้อหาที่สามารถดึงดูดผู้ใช้งานให้อยู่บนแพลตฟอร์มให้นานได้มากที่สุด 

สุดท้ายแล้วการเล่นโลกโซเชียล ก็จะทำให้คุณนอนน้อยลง และคุณภาพการนอนแย่ขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายต่อสุขภาพอย่างไม่ต้องสงสัย

การเล่นโซเชียลมีเดีย ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ (Unhealthy Sleep Patterns)
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/young-attractive-brunette-woman-lying-soft-pillow-bed-outdoor-using-cell-phone_15753820.htm

7. การเสพติดสมาร์ทโฟน (Smartphone Addiction)

Social Media ไม่ใช่สารเสพติด แต่ก็ทำให้คนลุ่มหลงมันจนงอมแงมได้ บางคนติดมันยิ่งกว่าการติดบุหรี่ หรือแอลกอฮอล์เสียอีก มีหลายคนที่ติดโลกโซเชียลอย่างหนัก จนหยิบสมาร์ทโฟนออกมาเช็คการแจ้งเตือนตลอดเวลาโดยไม่คิดอะไร

หากคุณไม่แน่ใจว่าคุณเสพติดสมาร์ทโฟนแล้วหรือยัง ? ลองพยายามนึกดูว่า ครั้งสุดท้ายที่คุณใช้เวลาทั้งวันโดยไม่ได้เช็คการแจ้งเตือนจากโลกโซเชียลเลย เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ? หากคุณรู้สึกกระวนกระวายใจที่ไม่ได้เช็คแจ้งเตือนในทันที หรือคิดว่าโลกทั้งใบจะหายไปในทันทีหาก Social Media ที่คุณใช้งานอยู่เกิดปิดตัวไปกะทันหัน 

การเสพติดสมาร์ทโฟนยังส่งผลเสียต่อสัมพันธภาพในสังคมอีกด้วย ลองคิดตามว่าในขณะที่เพื่อนกำลังพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน แต่มีคุณคนเดียวที่ก้มหน้าก้มตาเล่นสมาร์ทโฟน นอกจากนี้การก้มหน้าเล่นสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานยังเป็นสาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรมได้อีกด้วย


สุดท้ายแล้วโลกโซเชียล ก็เป็นนวัตกรรมตัวหนึ่งที่มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันก็มีประโยชน์ และข้อดีอยู่มากมาย หากเราใช้มันอย่างถูกวิธี โดยที่ไม่ปล่อยให้มันครอบงำจิตใจ ไม่จำเป็นต้องลบบัญชีที่มอยู่ใน Social Media ทิ้งไปให้หมด ที่ต้องทำคืออย่าลืมมิตรภาพในโลกความเป็นจริง ใช้งานมันอย่างเหมาะสมก็เพียงพอแล้ว

ต้นฉบับ :
ที่มา :