Digital Footprint รอยเท้าดิจิทัล คืออะไร ? และมีผลในภาคการศึกษายุคหลัง COVID-19 อย่างไร ?

เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 19,230
เขียนโดย :
Digital Footprint รอยเท้าดิจิทัล คืออะไร ? และมีผลในภาคการศึกษายุคหลัง COVID-19 อย่างไร ?
Digital Footprint รอยเท้าดิจิทัล คืออะไร ? และมีผลในภาคการศึกษายุคหลัง COVID-19 อย่างไร ?
เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 19,230
เขียนโดย :

Digital Footprint หรือ รอยเท้าดิจิทัล คืออะไร ?
และมีผลในภาคการศึกษายุคหลัง COVID-19 อย่างไร ?

ความโกลาหลที่เกิดขึ้นจากประกาศรัฐบาลสั่งให้ครูอาจารย์และนักเรียนย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในโลกออนไลน์ นอกจากจะเป็นแรงกระตุ้นให้ครูอาจารย์ทั่วประเทศได้เรียนรู้เครื่องมือสื่อสารออนไลน์มากมายในชั่วข้ามคืนและทำให้ฝ่ายสนับสนุนของสถาบันอุดมศึกษาทั้งหลายต้องทำงานหนักมาตลอดตั้งแต่เกิดวิกฤตแล้วนั้น ผลพลอยได้ของมันคือการสร้างรอยเท้าดิจิทัล (Digital Footprint) บนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภาคการศึกษาในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในบ้านเรา

เนื้อหาภายในบทความ

รอยเท้าดิจิทัล หรือ Digital Footprint คืออะไร ?

Digital Footprint แปลเป็นไทยตรงๆ เลยก็คือ "รอยเท้าดิจิทัล" (บางแห่งอาจจะเรียกว่า "ร่องรอยดิจิทัล") ซึ่งมันเป็นข้อมูลที่เราสร้างไว้บนอินเทอร์เน็ต มีอยู่สองประเภท คือ รอยเท้าที่เกิดขึ้นโดยเจตนา และ รอยเท้าที่ไม่ได้ตั้งใจฝากเอาไว้

  • Active Digital Footprint (รอยเท้าที่เกิดขึ้นโดยเจตนา) เช่น การใช้งานอีเมล, การเข้าไปพูดคุยในเว็บบอร์ด หรือการโพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย
  • Passive Digital Footprint (รอยเท้าที่ไม่ได้ตั้งใจฝากเอาไว้) หรือร่องรอยข้อมูลที่เราฝากเอาไว้ในที่ต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัว เช่น หมายเลข IP Address ของเราที่อาจจะมาจากประวัติการค้นหาข้อมูลจากเสิร์ชเอนจิน, ข้อมูลระบุพิกัดภูมิศาสตร์ (Geolocation) รวมถึงสถิติการเข้าชม (Hits) เว็บไซต์

รอยเท้าดิจิทัลในภาคธุรกิจ (Digital Footprint in Business Sector)

รอยเท้าที่เราเหยียบย่ำไปในโลกออนไลน์มีผลกับเราตั้งแต่สมัครงานเลยครับ ทางสมาคมการจัดการงานบุคคลฯ เคยรายงานว่าฝ่ายบุคคลเกินครึ่ง "ส่อง" ผู้สมัครจากสื่อโซเชียลอยู่แล้วเพราะเป็นด่านแรกที่จะเรียนรู้ถึงทัศนคติ วิธีคิด การดำเนินชีวิตของคน ๆ หนึ่งได้ง่ายและเร็วที่สุด

ด้วยลักษณะของข้อมูล รอยเท้าดิจิทัลที่สามารถบ่งบอกพฤติกรรมและรสนิยมของผู้ใช้ นี่เองทำให้มันกลายเป็นขุมทรัพย์ที่ว่ากันว่ามีค่ายิ่งกว่าน้ำมัน เมื่อนำข้อมูลที่รวบรวมจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลโซเชียลมีเดีย, พันทิป และเว็บต่าง ๆ นานาที่สามารถเข้าถึงได้ เอามาพัฒนาเป็นโมเดลข้อมูลเชิงลึกเพื่อเป็นโปรไฟล์ลูกค้าหลายมิติ มันจะกลายขุมทรัพย์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นช่องทางใหม่ให้แบรนด์ต่าง ๆ ได้เสิร์ฟโฆษณาไปถึงหน้าจอกลุ่มลูกค้าได้อย่างไม่จบไม่สิ้น สร้างกำไรมหาศาลให้เอเจนซีโฆษณา (และเจ้าของข้อมูลตัวจริงอย่างกูเกิลและเฟซบุ๊ก)

รอยเท้าดิจิทัลในภาคการศึกษา (Digital Footprint in Education Sector)

ในขณะที่รอยเท้าดิจิทัลสร้างปรากฏการณ์ให้กับภาคธุรกิจมากมาย ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนการสอนก็ชูธงเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อให้ผู้ใช้งาน เช่น ครูอาจารย์, นักเรียน หรือผู้บริหารได้เข้าใจพฤติกรรมการใช้เรียนรู้และการประเมินผลได้ โดยความสามารถนี้เรียกกันว่าการวิเคราะห์การเรียนรู้ (Learning Analytics) 

ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มเจ้าใหญ่ก็แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มสำนักพิมพ์ที่ขยายธุรกิจมาเพื่อสร้างสื่อดิจิทัล เช่น McGraw Hill, Cengage หรือ Wiley ทุกเจ้าที่ว่ามามี Content ของตัวเองและมีระบบการเรียนรู้พร้อมความสามารถในการวิเคราะห์การเรียนให้อยู่แล้ว อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้พัฒนาระบบการจัดการการเรียนรู้ (Learning Management Systems หรือ LMS) เช่น Blackboard, Edmodo, Moodle, Google Classroom และผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง Microsoft Teams ที่กำลังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสก็ได้จับมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา, วิทยาศาสตร์, วิจัย และนวัตกรรมไปเรียบร้อยแล้ว

หน้าที่หลักของระบบ LMS คือช่วยบริหารข้อมูลต่าง ๆ ในชั้นเรียนออนไลน์ เช่น การประกาศข่าว, จัดเก็บไฟล์เอกสารการสอน, จัดทำแบบทดสอบ, สร้างกล่องรับการบ้าน และระบบ LMS ส่วนใหญ่ ก็มี Learning Analytics ที่สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียนได้เช่นกัน

รอยเท้าดิจิทัลบอกอะไรเราได้บ้าง ?

ระบบ Learning Analytics ที่พ่วงมากับระบบการเรียนการสอนเหล่านี้ช่วยให้ผู้เรียน ครูอาจารย์และนักบริหารการศึกษาตอบโจทย์การเรียนรู้ได้ในหลายระดับ ที่ใกล้ตัวที่สุดคือระดับนักเรียน เช่น ระบบ Connect ของ McGraw Hill มีอีบุ๊กพร้อมแบบฝึกหัดที่ช่วยผู้เรียนเข้าใจทบทวนเนื้อหาตามความถนัด เป็น AI ที่เรียนรู้การทำแบบทดสอบบทเรียนและคอยรายงานว่าเนื้อหาส่วนไหนที่ผู้เรียนยังอ่อนอยู่ และผู้สอนก็สามารถดูภาพรวมของเด็กในชั้นว่าเนื้อหาส่วนไหนที่ผู้เรียนยังไม่ค่อยเข้าใจเพื่อจะได้ช่วยเน้นย้ำให้ถูกจุด

สำหรับตัว LMS ทุกเจ้าก็โฆษณาความสามารถในการหา ข้อมูลเชิงลึก หรือ Insights ของผู้เรียนจะแตกต่างกันที่ความ “ลึก” ในการล้วงข้อมูลนั่นละครับ ที่เบสิกมาก ๆ คือการรายงานกิจกรรมการเรียนให้ผู้สอนทราบเป็น Active Digital Footprint เช่น นักเรียนส่งงานตรงเวลาหรือเปล่า คะแนนการทดสอบออนไลน์มีสถิติเป็นอย่างไร มีคนผ่านกี่คน ข้อมูลเหล่านี้เข้ามาช่วยลดภาระในการจัดการห้องเรียนได้พอสมควรเลย นั่นหมายถึงครูผู้สอนจะมีเวลาช่วยเหลือผู้เรียนมากขึ้นเช่นกัน 

ตัวอย่างข้อมูลการมีส่วนร่วมกับการสนทนาในวิชาจาก Microsoft Teams with Class Insights
Digital Footprint รอยเท้าดิจิทัล คืออะไร ? และมีผลในภาคการศึกษายุคหลัง COVID-19 อย่างไร ?
ภาพจาก : https://thebnp.org/2020/05/14/teams-use-insights-to-get-data-on-student-engagement/

ข้อมูลที่ลึกกว่าการรายงานกิจกรรมการเรียนรู้เป็นข้อมูลประเภท Passive Digital Footprint ซึ่งในระบบ LMS ยอมให้เข้าถึงได้ ทำให้เราทราบถึงหมายเลข IP Address ของผู้เรียน เรารู้พฤติกรรมผู้ใช้ทั้งครูและนักเรียนว่าเข้ามาใช้เวลาในระบบมากแค่ไหน ดูเนื้อหาส่วนใดบ้าง ข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานแบบนี้ยังสามารถติดตามดูว่าเด็กคนไหนมีแววว่าจะเรียนไม่รอด (At Risk) ด้วยครับ 


ตัวอย่างรายงาน Insights report ของ Moodle 3.8

การเข้าถึงข้อมูลในระดับนี้เป็นประโยชน์ต่อนักบริหารการศึกษาด้วย โดยเฉพาะในบ้านเราที่ยังมีความกังวลถ้าย้ายห้องเรียนไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตแล้วเราจะตรวจสอบการทำงานของครูอาจารย์ได้อย่างไร รายงานเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บริหารเห็นภาพรวมกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบได้ ลดภาระในการทำงานลงเหลือเพียงตรวจสอบความผิดปกติ เช่น บางวิชาที่มีการใช้งานน้อยกว่าค่าเฉลี่ย หรือมีการเข้าใช้งานเนื้อหาไม่ครบทุกกิจกรรม เป็นต้น

วางแผนการจัดการข้อมูลรอยเท้าดิจิทัลเพื่อเพิ่มศักยภาพองค์กร

ในภาคการศึกษานั้น การใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและองค์กรยังถือว่าตามหลังภาคธุรกิจอยู่มากครับ ปัจจัยหนึ่งคือความพร้อมของบุคลากรเอง อย่างที่เราเห็นความวุ่นวายในการย้ายห้องเรียนมาสอนออนไลน์ในปัจจุบันและเสียงบ่นของผู้เรียน นโยบายเกี่ยวกับการใช้งานระบบการเรียนรู้ต่าง ๆ ก็ยังไม่มีออกมาอย่างชัดเจน ครูอาจารย์ในหลายหน่วยงานก็เลือกใช้ระบบที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบัน ไม่ได้ใช้บัญชีผู้ใช้ทางการของหน่วยงาน ทำให้ไม่สามารถตามเก็บรอยเท้าดิจิทัลได้

ในช่วงนี้สถาบันการศึกษาหลาย ๆ แห่ง ก็ล้มลุกคลุกฝุ่นกัน แต่วันที่ฝุ่นจางและมหาวิทยาลัยไหนตั้งตัวได้ วางแผนเก็บข้อมูลรอยเท้าดิจิทัลอย่างเป็นระบบ ก็จะสามารถดึงข้อมูลทะเบียน, ข้อมูลนักศึกษา และการใช้งานในระบบการเรียนรู้เข้ามาไว้เป็นคลังข้อมูล (Data Warehouse หรือ Data Mart) มันจะกลายเป็นขุมทรัพย์ที่มีค่ายิ่งกว่าน้ำมันแน่ 

เดิมทีข้อมูลของสถาบันการศึกษานั้นพอจะใช้คาดคะเนความสำเร็จของผู้เรียนได้ตั้งแต่แรกเข้า เช่น การถามผลการเรียนในระดับมัธยมและภูมิหลังของนักเรียน (จบโรงเรียนรัฐ, เอกชน หรืออินเตอร์) ผู้ปกครองมีการศึกษาระดับไหน (จบประถม, มัธยม หรืออุดมศึกษา) แต่เมื่อเด็กได้เริ่มต้นเรียนกับเราแล้ว เราสามารถนำบันทึกรอยเท้าดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีก เด็กที่มีภูมิหลังไม่แข็งแรงนักอาจจะต้องคอยติดตามดูกิจกรรมต่าง ๆ มากกว่าปกติ แต่งตั้งที่ปรึกษาแบบพิเศษเพื่อติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนแบบใกล้ชิดโดยการให้เข้าถึงข้อมูล Insights Report ในวิชาต่าง ๆ อาจมีการให้ทำกิจกรรมเสริมเพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นต้น

ยิ่งเก็บข้อมูลมากมันก็จะช่วยให้เราทราบว่านโยบายต่าง ๆ ที่ใช้ช่วยเหลือผู้เรียนนั้นมีผลอย่างไร ถ้าเราทดลองนโยบายไว้หลายแนวทางก็สามารถเปรียบเทียบกันได้ว่าแบบไหนประสบความสำเร็จมากกว่ากัน 
เรื่องเหล่านี้คงไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะภูมิหลังนักศึกษาในแต่ละสถาบันก็แตกต่างกัน ถ้าสถาบันไหนเริ่มเห็นความสำคัญกับรอยเท้าดิจิทัลของผู้เรียนและวางแผนเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและนำมาใช้พัฒนาการเรียนการสอน กิจกรรมแนะแนวนักศึกษา รวมถึงการบริหารการศึกษาได้ ขุมทรัพย์ข้อมูลนี้ย่อมมีค่ามากกว่าน้ำมันแน่นอน

ต้นฉบับ :
ที่มา :