Ad Retargeting คืออะไร ? ทำไมเราถึงเจอแต่โฆษณาเดิมซ้ำ ๆ ขึ้นมา ? จะแก้ไขได้อย่างไร ?

เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 4,767
เขียนโดย :
Ad Retargeting คืออะไร ? ทำไมเราถึงเจอแต่โฆษณาเดิมซ้ำ ๆ ขึ้นมา ? จะแก้ไขได้อย่างไร ?
Ad Retargeting คืออะไร ? ทำไมเราถึงเจอแต่โฆษณาเดิมซ้ำ ๆ ขึ้นมา ? จะแก้ไขได้อย่างไร ?
เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 4,767
เขียนโดย :

ทำไมเราถึงเจอแต่โฆษณาเดิมซ้ำ ๆ ขึ้นมา ? จะแก้ไขได้อย่างไรบ้าง ?
(Why Do You Keep Seeing the Same Ads? How to Fix It ?)

ลองจินตนาการว่า ณ ตอนนี้ คุณกำลังสนใจเกี่ยวกับเกมลดราคา แล้วคุณก็เลยแวะไปเยี่ยมชมดีลต่าง ๆ ตามเว็บไซต์ขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลัก แล้วในระหว่างที่คุณเช็คราคาเกมที่คุณกำลังต้องการ คุณก็ยังไม่พร้อมที่จะซื้อในเดี๋ยวนั้น หรือบางทีก็แค่อยากแวะมาเช็คราคาก่อนเฉย ๆ เพื่อที่จะได้เตรียมตังค์ถูก

แต่หลังจากที่คุณออกจากเว็บไซต์นั้นมา คุณก็สังเกตเห็นว่า มีโฆษณาเกมเดิม ราคาเซลเดิมที่คุณเจอมา หรือบริษัทที่คุณแวะไปดูมา เด้งขึ้นมาเป็นโฆษณาในเว็บไซต์อื่นหลังจากที่คุณออกจากเว็บนั้น ๆ มาแล้ว ตามมาหลอกหลอนถึงที่ ซึ่งบางทีปรากฎเป็นครั้งคราวก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้ามันปรากฎเรื่อย ๆ ปรากฎซ้ำ ๆ ตลอดทุกเว็บที่คุณไป สิ่งนี้เรียกว่า Retargeting Ads ที่ในบทความนี้ เราจะมาพูดถึง และอธิบายว่าทำไมบางเว็บไซต์ถึงต้องทำแบบนี้ พร้อมวิธีกำจัดพวกมันออกไปไม่ให้ตามมาหลอกหลอนอีก

เนื้อหาภายในบทความ

Retargeting Ads คืออะไร ? (What is Retargeting Ads ?)

อย่างที่เราได้เกริ่นนำไปข้างต้นแล้วว่า Retargeting Ads จะเกิดขึ้นเมื่อคุณไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง แต่คุณไม่ได้สำเร็จการซื้อขาย หรือดีลธุระกับเว็บไซต์นั้น ๆ ที่เว็บนั้นอยากให้สำเร็จเสร็จสิ้น ก็จะก่อให้เกิดกระบวนการนำข้อมูลที่เก็บไว้จากการที่คุณเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ มาใช้ประโยชน์ต่ออีกทีหนึ่ง

กล่าวคือ เว็บไซต์ดังกล่าว จะนำ เว็บคุ้กกี้ (Web Cookie) หรือประวัติการเข้าชม (Access History) ที่เก็บได้จากตัวคุณ ตามไปหาทางยิงโฆษณาให้ผ่านตาคุณในพื้นที่เว็บไซต์ที่คุณจะมีโอกาสผ่านไปอีกทีนั่นเอง

ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเช่น ถ้าเว็บขายของอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวลงทะเบียนใช้งาน Retargeting Ads กับ Google Ads ไว้ โฆษณาที่เป็นของบริษัทนั้น ๆ ก็จะกลับไปปรากฎที่เว็บอื่นที่อยู่ในเครือข่ายที่ลงทะเบียนไว้ภายใน Google Display Network (GDN) อีกที ซึ่งก็อย่างที่รู้ ๆ กัน ว่าเว็บไซต์ส่วนใหญ่ก็ใช้งาน Google กันแทบจะทุกเว็บไซต์อยู่แล้ว

Ad Retargeting คืออะไร ?
เครดิตภาพ : https://landerapp.com/blog/what-is-retargeting-2/

และแม้กระทั่งแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook เอง ก็ยังใช้วิธีนี้ด้วยเหมือนกัน โดยใช้เครื่องมิอที่ชื่อว่า Facebook Pixel ซึ่งถ้าเว็บขายของอิเล็กทรอนิกส์ที่ว่า ใช้ Facebook Pixel ด้วย โฆษณาของบริษัทนี้ก็จะมาโผล่ใน Facebook ได้ด้วย

Retargeting Ads กับ Targeted Ads เหมือนกันหรือเปล่า ?
(Are Retargeting Ads and Targeted Ads the same thing ?)

จากคำถามในหัวข้อว่า Retargeting Ads กับ Targeted Ads เหมือนกันหรือเปล่า ? คำตอบคือ "ไม่" โดยเหตุผลก็เพราะว่า ถ้าเป็น Targeted Ads หรือโฆษณาที่ยิงตรงหากลุ่มเป้าหมายแล้วล่ะก็ มันจะเป็นแค่โฆษณาที่คล้าย ๆ กันกับสิ่งที่คุณแวะไปเยี่ยมชมหน้าเว็บไซต์อื่น ๆ มาก่อนหน้าเท่านั้น และมันไม่จำเป็นว่าจะต้องตรงกันหรือเป็นสินค้าเดียวกันเสมอไป

Retargeting กับ Targeted Ads เหมือนกันหรือเปล่า ?
เครดิตภาพ : https://www.makeuseof.com/why-seeing-same-ads/

นั่นเป็นเพราะว่า เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) หรือ เครื่องมือค้นหา (Search Engine) ที่คุณใช้อยู่ อาจจะแชร์ข้อมูลเว็บไซต์ หรือว่าแพลตฟอร์มโซเชียลที่คุณใช้อยู่ไปให้เว็บไซต์อื่น ๆ ที่เป็นพันธมิตรหรือเป็นเว็บไซต์สำหรับลงโฆษณาด้วย ซึ่งเว็บที่ได้รับข้อมูลไป ก็จะจัดการใช้ข้อมูลนั้น มาอ้างอิงเพื่อนำเสนอโฆษณาที่ใกล้เคียงกันกับพฤติกรรมการท่องเว็บไซต์ของคุณแทน ซึ่งจะเป็นการคาดเดาความน่าจะชอบของคุณ แทนที่จะเป็นการเอาข้อมูลของเว็บที่คุณเคยไปเยี่ยมชมนั้นมาลงซ้ำอีกที

ทำไมบรรดาเว็บไซต์ต่าง ๆ ถึงต้องใช้ Ad Retargeting กัน ?
(Why do many websites use Retargeting Ads ?)

สำหรับผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ ที่ต้องพบเจอกับโฆษณาเหล่านี้เป็นประจำ บางคนก็รู้สึกว่าการยิงโฆษณาแบบนี้ดูน่ากลัวเกินไป (เหมือนถูกติดตามตลอดเวลา) บ้างก็รู้สึกว่ามันน่ารำคาญ แถมบางครั้งก็ยิงมาหาด้วยไทม์มิ่งแย่ ๆ เพราะต้องมาเจอโฆษณาซ้ำเดิมทั้ง ๆ ที่ก็ซื้อสินค้าชิ้นนั้นไปแล้ว

ในอีกมุมหนึ่ง โฆษณาเหล่านี้ก็เป็นเสมือนตัวย้ำเตือนให้คุณนึกถึงสินค้าหรือบริษัทนั้นบ่อย ๆ ว่าคุณเคยแวะเว็บไซต์นั้นมา และทำให้คุณแวะกลับไปได้อีกรอบเพื่อจัดการซื้อให้เสร็จสิ้นโดยไปต้องไปค้นหาจากประวัติการท่องเว็บ ซึ่งก็เป็นแง่ดีสำหรับคนที่ต้องการจะกลับไปซื้อ แต่ถ้ามองในมุมคนที่ไม่ต้องการกลับไปเว็บนั้นอีก มันก็จะกลายเป็นดูคุกคามไปได้ด้วย

ทำไมบรรดาเว็บไซต์ต่าง ๆ ถึงต้องใช้ Ad Retargeting กัน ?
เครดิตภาพ : https://www.makeuseof.com/why-seeing-same-ads/

อย่างไรก็ตาม หลักการนี้จะเป็นแบบเดียวกันกับ Ad Targeting แต่ Ad Targeting จะดูน่ากลัวมากกว่า เพราะบรรดาเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย จะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณในการคาดเดาความต้องการ, ไลฟ์สไตล์, และสิ่งที่คุณน่าจะกำลังมองหามากกว่า

วิธีป้องกันไม่ให้เจอกับบรรดาโฆษณาที่ใช้การ Retargeting
(How to prevent Retargeting Ads ?)

ลบประวัติการท่องเว็บ, คุกกี้, และเว็บแคชทิ้ง

การลบประวัติการท่องเว็บ, คุกกี้, และเว็บแคชทิ้ง ให้ออกไปให้หมดจาก เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) ถือเป็นการลบข้อมูลเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่จะถูกส่งไปป้อนให้กับบรรดาโฆษณาต่าง ๆ ได้ และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ก็ลบข้อมูลล็อกอินและข้อมูลอ้างอิงอื่น ๆ ออกไปด้วยเป็นประจำ ก็จะทำให้โฆษณาพวกนั้นไม่ได้ข้อมูลของเราไป

แบ่งปันข้อมูลให้น้อยลง

เว็บไซต์โซเชียลมีเดียต่าง ๆ มีช่องแบบฟอร์มให้เรากรอกข้อมูลเข้าไปมากมายหลายสิบช่อง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องกรอกมันลงไปซะทั้งหมด เหลือบางช่องไว้ให้เป็นปริศนาบ้างก็ได้ เพื่อที่ว่าบรรดาโฆษณาต่าง ๆ จะได้ไม่มารบกวนคุณมากนัก

วิธีป้องกันไม่ให้เจอกับบรรดาโฆษณาที่ใช้การ Retargeting
ข้อมูลบางอย่างเช่นเรื่องเพศ ลองเปลี่ยนไปใช้แบบ Custom ดูบ้างก็ได้

โปรดจำไว้ว่า โซเชียลมีเดียวต่าง ๆ จะตามแทรคคุณเพื่อหาประเภทคอนเท้นท์ที่คุณสนใจด้วยเหมือนกัน และเมื่อคุณคลิกโฆษณาเข้าไป ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า โฆษณาเหล่านั้นถูกจริตคุณ และมันจะตามส่งโฆษณาอื่น ๆ ที่คล้ายกันมาหาด้วยเป็นลำดับถัดไป

ใช้ VPN

เมื่อคุณใช้ เครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network - VPN) การที่เว็บไซต์ต่าง ๆ จะตามแกะรอยตัวคุณด้วยคุกกี้ก็จะทำได้ยากขึ้น เพราะ VPN จะทำการซ่อน หมายเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ที่แท้จริงของคุณไว้ นั่นหมายความว่าบรรดาเว็บไซต์ทั้งหลายก็จะไม่รู้ด้วยว่าจะส่งโฆษณาไปที่ไหนดี (เหมือนอยากส่งใบปลิวไปให้ แต่ไม่รู้ที่อยู่บ้านน่ะ)

ใช้ Ad Blocker

ถึงแม้ว่า Ad Blocker จะไม่สามารถบล็อกโฆษณาไปได้หมดซะทีเดียว แต่การใช้มัน ก็จะช่วยลดโฆษณาที่คุณจะต้องเห็นลงไปได้ดี ทั้งการซ่อนไว้ หรือการไม่ให้มันโหลดขึ้นมา

ใช้เว็บเบราว์เซอร์แบบส่วนตัว

เว็บเบราว์เซอร์บางเว็บ จัดว่ามีความเป็นส่วนตัวมากกว่าเว็บเบราว์เซอร์อื่น ๆ ที่เป็นที่นิยม ยกตัวอย่างเช่น Brave Browser ที่ไม่เพียงแต่จะมี Ad Blocker มาให้เลยในตัว แต่ยังมีตัวบล็อกตัวติดตามการแทรคกิ้ง และคุกกี้จากมือที่สาม ที่ทำให้ไม่สามารถติดตามการค้นหาของเราได้

วิธีป้องกันไม่ให้เจอกับบรรดาโฆษณาที่ใช้การ Retargeting

นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้งานโหมดไม่ระบุตัวตนแทน เช่น โหมดไม่ระบุตัวตน (Incognito Mode) ของ Chrome เพื่อการใช้งานแบบนี้โดยเฉพาะได้เช่นกัน

ใช้ Search Engine ที่เป็นส่วนตัว

ในปัจจุบัน มีบริการค้นหา หรือ Search Engine หลากหลายเจ้าที่ไม่ติดตามและแชร์ข้อมูลการค้นหาของคุณให้คนอื่น เช่น DuckDuckGo

ปิดคุกกี้ทิ้งไป

ถ้าเว็บไซต์เหล่านั้นเสนอการเก็บข้อมูลคุกกี้ขึ้นมาเมื่อไหร่ ให้อ่านวิธีนำคุกกี้ไปใช้งานของเว็บไซต์นั้นดู ว่ามีการนำไปแชร์กับบุคคลที่สามหรือเปล่า หรือไม่ก็ลองมองหาตัวเลือกเพื่อปิดมันดู

ต้นฉบับ :
ที่มา :