ทำไม Facebook ถึงมีคนใช้งานน้อยลง ? ส่วน Instagram ยังพอไหว อะไรคือสาเหตุ ?

เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 16,101
เขียนโดย :
ทำไม Facebook ถึงมีคนใช้งานน้อยลง ? ส่วน Instagram ยังพอไหว อะไรคือสาเหตุ ?
ทำไม Facebook ถึงมีคนใช้งานน้อยลง ? ส่วน Instagram ยังพอไหว อะไรคือสาเหตุ ?
เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 16,101
เขียนโดย :

ทำไม Facebook ถึงมีคนใช้งานน้อยลง ?
ในขณะที่ Instagram ยังพอไหว อะไรคือสาเหตุ ?

สำนักข่าวชื่อดังหลากหลายเจ้า ได้ทำการรวบรวมเอกสารงานวิจัย และการวิเคราะห์สถิติภายในบริษัท Facebook ออกมาตีแผ่ถึงผลการศึกษาภายในของบริษัท และคาดการณ์กันไปว่าบางทีในตอนนี้ (และอนาคตอันใกล้) อาจเป็นช่วงขาลง ของบริษัทโซเชียลมีเดียสุดป๊อปปูลาร์ที่ติดชาร์ตการดาวน์โหลดเป็นอันดับต้น ๆ ด้วยยอดดาวโหลดหลายพันล้านครั้งอย่าง Facebook แล้วก็เป็นได้ !?

บทความเกี่ยวกับ Facebook อื่นๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องยกความดีความชอบให้อดีตหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Facebook อย่าง Frances Haugen ที่ได้นำเอา “Facebook Paper” หรือเอกสารงานวิจัยและการศึกษาสถิติต่าง ๆ ของบริษัทออกมาเปิดเผยต่อสภาคองเกรส (Congress) และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ จนทำให้เกิดการถกเถียงในประเด็นต่าง ๆ ขึ้นมา และเธอยังได้ให้สัมภาษณ์กับ 60 Minutes Interview ของสำนักข่าว CBS ในประเด็นนี้ด้วย

เนื้อหาภายในบทความ

ทางตันของ Facebook

จากเอกสารภายในที่ Frances Haugen ได้นำเอาออกมาเปิดเผยถึงการเก็บรวบรวมและสำรวจการใช้งานแอปพลิเคชัน Facebook ของผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) มาจนถึงปัจจุบันก็พบว่ามีการใช้งานที่ลดน้อยลงอย่างมาก และคาดการณ์ว่าอีกสองปีข้างหน้าอาจมียอดการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันลดน้อยลงไปถึง 45% !

วัยรุ่นทยอยโบกมือลา Facebook

ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าการลงทะเบียนใช้งาน Facebook ของผู้ใช้ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปีนั้นก็มียอดลดลงถึง 26% จากปีที่แล้ว และสำหรับผู้ที่มีแอคเคาท์อยู่แล้วก็มีการเข้าใช้งานที่น้อยลงจากเดิม โดยในกลุ่มวัยรุ่นมีการใช้งาน Facebook ลดลงราว 13 % และมีการใช้งาน แอปพลิเคชัน Messenger ลดลงถึง 16% จากปีก่อนในขณะที่ผู้ใช้กลุ่มอายุ 20-30 ปียังคงมีการใช้งานที่สม่ำเสมอดังเดิม

กลุ่มผู้ใช้ Facebook ที่เป็นวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปีมีจำนวนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น ๆ
ภาพจาก : https://www.businessofapps.com/data/facebook-statistics/

นอกจากนี้แล้ว ภายในเอกสารวิเคราะห์การใช้งาน Facebook ในช่วงการระบาดของ COVID-19 อย่างรุนแรงเมื่อปีก่อนก็ทำให้ "ระยะห่างของช่วงอายุ" ของผู้ใช้งาน Facebook เพิ่มมากขึ้นอีก เพราะจากผลสำรวจพบว่าชาวอเมริกันที่อายุ 30 ปีขึ้นไปมีการใช้งาน Facebook ต่อวันมากกว่ากลุ่มวัยรุ่นราว 24 นาทีต่อวัน

ซึ่งนอกเหนือไปจากสหรัฐอเมริกาแล้วประเทศอื่น  ๆ เองก็มีแนวโน้มแบบเดียวกันตามไปด้วย และหากยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป ช่วงอายุเฉลี่ยของผู้ใช้งาน Facebook ก็จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

โดยสำหรับประเด็นดังกล่าวนี้ Chris Cox ผู้จัดการหัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของทางบริษัท Facebook ก็ได้ออกมาให้ความเห็นว่า

กลุ่มวัยรุ่นตอนปลายส่วนหนึ่งมองว่า Facebook เป็นพื้นที่ของคนที่มีอายุราว 40 - 50 ปี และรู้สึกว่าคอนเทนท์ต่าง ๆ บน Facebook นั้นน่าเบื่อ หรือบางครั้งก็มีการแพร่ข้อมูลที่ผิด ๆ และพวกเขายังมองว่า Facebook มีระบบการจัดการข้อมูลผู้ใช้ที่ไม่ดีนักและภายในแพลตฟอร์มเองก็มีการตระหนักรู้ในประเด็นที่สำคัญต่าง ๆ ค่อนข้างน้อยและไม่มีบริการที่จะมาซัพพอร์ทในเรื่องนี้ที่มากเพียงพอ ทำให้พวกเขาต้องเลื่อนผ่านคอนเทนท์มากมายที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตไประยะหนึ่งกว่าจะเจอโพสต์ที่ตรงกับความสนใจของพวกเขาหรือโพสต์ที่ช่วยฟื้นฟูจิตใจขึ้นมาได้

ด้วยเหตุนี้มันก็น่าจะส่งผลให้ Facebook อาจกลายเป็นแพลตฟอร์มกลวงเปล่าที่ไร้การเคลื่อนไหว เพราะผู้ใช้ที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ ลดการเล่น Facebook ลงก็ไม่น่าจะกลับมาใช้งานสม่ำเสมอเมื่อก้าวเข้าสู่วัยทำงาน อีกทั้งในปัจจุบันกลุ่มผู้ใช้ที่อยู่ในช่วงอายุ 20 - 30 ปีก็มีแนวโน้มการใช้งานแอปพลิเคชัน Facebook น้อยลงถึง 4% และในกลุ่มผู้สูงอายุเองก็มีแนวโน้มว่าจะใช้งาน Facebook น้อยลงตามไปด้วยเช่นเดียวกัน

Facebook เพิกเฉย กับกลุ่มคนที่ใช้แพลตฟอร์ม ในทางที่ผิด

อีกส่วนที่น่าสนใจจากเอกสารภายในที่สำนักข่าวต่าง ๆ ได้รวบรวมมาก็มีประเด็นในเรื่องของการใช้งานแพลตฟอร์มในทางที่ผิด ๆ ตัวอย่างเช่น กลุ่มคนบางกลุ่มก็ใช้ Facebook เป็นตลาดค้ามนุษย์หรือค้าสัตว์และของเถื่อนในบางพื้นที่ หรือบางกลุ่มก็มีการใช้งาน Facebook เพื่อปลุกระดมส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในหลาย ๆ ประเทศ

และสำหรับประเด็นรองลงมา อย่างการใช้ คำพูดหรือข้อความที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังหรือส่งผลกระทบทางลบต่อจิตใจของผู้รับสาร (Hate Speech) ในหลายประเทศที่มีการแจ้งรายงานเข้ามาให้ทางบริษัทรับทราบและจัดการก็ชี้ให้เห็นว่าทางบริษัทค่อนข้างนิ่งเฉยและไม่ได้ให้ความสำคัญหรือมีมาตรการป้องกันและแก้ไขที่ชัดเจนมากไปกว่าเดิมแต่อย่างใด

Facebook เพิกเฉยกับกลุ่มคนที่ใช้แพลทฟอร์มในทางที่ผิด
ภาพจาก : https://news.mongabay.com/2021/06/unregulated-by-u-s-at-home-facebook-boosts-wildlife-trafficking-abroad/

ก็ไม่แน่ว่าในอนาคตทาง Facebook จะเพิ่มมาตรการในการจัดการกับผู้ใช้กลุ่มนี้อย่างไรบ้าง เพราะจากรายงานภายในของบริษัทก็ดูเหมือนว่าทาง Facebook จะรับรู้และทราบว่ามีการใช้งานแพลตฟอร์มในทางที่ผิด แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้ออกมาทำการ “ลงดาบ” จัดการกับผู้ใช้ในกลุ่มนี้ อีกทั้งยังไม่มีมาตรการและการจัดการที่ดีพอในการป้องกันและแก้ไขประเด็นปัญหาดังกล่าวอย่างเข้มงวดอีกด้วย ซึ่งหากยังเป็นแบบนี้ต่อไปก็น่าจะทำให้มันกลายเป็นแพลตฟอร์มที่ไม่น่าใช้งานมากขึ้นไปกว่าเดิมและจำนวนผู้ใช้ก็คงจะลดลงอีกอย่างแน่นอน ก็ได้แต่หวังว่าทางบริษัทจะดำเนินการแก้ไขประเด็นนี้และเสริมสร้างให้ Facebook กลับมาเป็นแพลตฟอร์มที่น่าใช้งานอีกครั้งหนึ่ง

Instagram ยังพอไปต่อไหว

ทางด้านของ Instagram ที่เป็นโซเชียลมีเดียยอดนิยมอีกแพลตฟอร์มหนึ่งภายใต้การดูแลของบริษัท Facebook นั้นยังคงสามารถรักษาฐานผู้ใช้ในกลุ่มวัยรุ่นได้ดีกว่าแอปพลิเคชันหลักอย่าง Facebook โดยจากผลสำรวจพบว่ากลุ่มผู้ใช้วัยรุ่นส่วนมากในสหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, ญี่ปุ่น และออสเตรเลียนั้นยังคงมีอัตราการใช้งานอย่างสม่ำเสมออยู่ แต่ก็มีการโพสต์ลดน้อยลงจากปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ลงถึง 13% ด้วยเช่นกัน

สำหรับในประเด็นนี้ก็คาดการณ์ว่าน่าจะสืบเนื่องมาจากที่กลุ่มวัยรุ่นเริ่มมองว่า Facebook ไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับตนเอง แต่เป็นพื้นที่ของผู้ใหญ่และวัยกลางคนมากกว่า จึงสนใจใช้งาน Intragram ที่มีความ "ปลอดภัยจากผู้ปกครอง" มากกว่าที่จะเล่น Facebook ที่หลาย ๆ คนจำต้องกดรับเพื่อนที่เป็นคนในครอบครัว, ครูอาจารย์ หรือคนรู้จักต่าง ๆ

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้เขาเหล่านั้น ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือโพสต์ข้อความ และรูปภาพบางอย่างได้สะดวกใจเท่ากับการใช้งาน Instagram ที่เป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่นและเพื่อนรุ่นเดียวกัน (แม้ว่า Facebook จะสามารถเลือกตั้งค่าโพสต์ให้เห็นเฉพาะกลุ่มได้ แต่การต้องคอยมากดทุกโพสต์ก็น่าเบื่อไม่น้อยเลยทีเดียว)

วัยรุ่นใช้งาน Facebook น้อยลงแต่ Instagram ยังคงได้รับความนิยมอยู่
ภาพจาก : https://www.theverge.com/22743744/facebook-teen-usage-decline-frances-haugen-leaks

และจากสถิติการเปิดบัญชีใหม่ (Open New Account) บน Instagram นั้นก็พบว่าผู้ใช้ราว 61% เลือกตั้งค่า Instagram ของตนเองให้เป็นแบบส่วนตัว (Private) และแชร์ Instagram ของพวกเขาแค่กับกลุ่มเพื่อนเท่านั้น

นอกจากนี้แล้ว วัยรุ่นราว 7% ยังระบุว่าพวกเขาได้ได้แจ้งรายงานเข้ามาว่าถูก Cyberbulling (กลั่นแกล้งทางออนไลน์) ผ่าน Instagram ซึ่ง 40% ของการกลั่นแกล้งทางออนไลน์นั้นก็เป็นในรูปแบบของการส่งข้อความส่วนตัว (DM - Direct Message) และมันก็สอดคล้องกับผลวิจัยที่ทางบริษัทได้เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า การใช้งาน Instagram นั้นส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้จริง

โดยที่วัยรุ่นหญิงราว 30% ระบุว่าพวกเธอรู้สึกไม่พึงพอใจในรูปร่างของตนเองเมื่อเล่น Instagram ซึ่งก็อาจเป็นเพราะผู้ใช้กลุ่มวัยรุ่นเพศหญิงมักชอบลงรูปภาพอวดเรือนร่างของตนเอง ทำให้กลุ่มวัยรุ่นบางคนที่รู้สึกว่าตนเองไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาตรงตาม Beauty Standard รู้สึกแย่และลดการเล่น Instagram ลงตามไปด้วย

การเข้ามาแย่งตลาดผู้ใช้ของ TikTok

นอกจากนี้ การเข้ามาตีตลาดของแอปพลิเคชัน TikTok ที่แย่งคะแนนความนิยมในช่วงไม่กี่ปีมานี้ก็ส่งผลกระทบต่อเวลาการเข้าใช้งานและอยู่ในแอปพลิเคชัน Instagram ไปไม่น้อย เพราะจากผลสำรวจพบว่ากลุ่มวัยรุ่นนั้นมีอัตราการใช้งานแอปพลิเคชัน TikTok ที่สูงกว่าการใช้งาน Instagram และ Snapchat ราว 2-3 เท่าเลยทีเดียว ซึ่ง Joe Osborne ผู้แทนของบริษัท Facebook ได้ออกมาพูดถึงในประเด็นนี้ว่า

แอปพลิเคชันของเรายังคงได้รับความนิยมในกลุ่มวัยรุ่นอยู่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับคู่แข่งสำคัญอย่าง Snapchat และ TikTok ซึ่ง Social Media แต่ละแอปก็ต้องการผู้ใช้ในกลุ่มวัยรุ่นด้วยกันทั้งนั้น, เราเองก็เช่นกัน

แน่นอนว่าทาง Instagram ที่มองเห็นว่า TikTok เป็นคู่แข่งรายสำคัญนั้นก็ได้ทำการ “ลอกการบ้าน” ด้วยการ เพิ่มฟีเจอร์ Reels เข้ามาเมื่อปีก่อนเหมือนกับที่เคยได้เปิดตัว “IG Stories” ที่ลอกมาจาก Snapchat ไปเมื่อราวช่วงปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) แต่น่าเสียดายที่ Reels นั้นทำผลงานได้ยังไม่ดีและมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ IG Stories ที่ช่วยให้ Instagram แย่งตลาดจาก Snapchat มาได้ไม่น้อยนับจากการเปิดตัว เพราะผู้ใช้ส่วนมากก็ยังคงใช้เวลาวนเวียนอยู่ใน TikTok มากกว่าที่จะเลือกใช้บริการ Reels จาก Instagram

อนาคตของ Facebook

เมื่อดูสรุปรวมผลคร่าว ๆ ของการสำรวจใช้งานแอปพลิเคชัน Facebook ของกลุ่มวัยรุ่นนั้นลดน้อยลงเรื่อย ๆ ส่วน Instagram ที่ถึงแม้ว่าจะยังรักษาฐานผู้ใช้กลุ่มวัยรุ่นเอาไว้ได้แต่ก็มีระยะเวลาในการใช้งานแอปพลิเคชันที่ลดน้อยลงจากเดิมเช่นกัน ซึ่งหากยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไปก็อาจเกิดวิกฤตการณ์ในการเติบโตต่อไปของทางบริษัทเป็นแน่

โดยส่วนตัวแล้วก็รู้สึกว่าฟีเจอร์ใหม่ ๆ ที่ทาง Facebook ปล่อยออกมานั้นก็ล้อกับฟีเจอร์ภายใน Instagram และมีการพยายามเชื่อมต่อสองแอปพลิเคชันนี้เข้ากันค่อนข้างมาก นี่ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้ตัดสินใจเลิกเล่น Facebook เพราะไม่ต้องการเชื่อมต่อแอคเคาท์ Instagram เข้ากับ Facebook หรืออาจมองว่าในเมื่อฟีเจอร์บน Facebook นั้นไม่ได้ต่างอะไรกับบน Instagram มากนักก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จำเป็นจำต้องใช้งานแอปพลิเคชันซ้ำซ้อนกัน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการพื้นที่ส่วนตัวในการแสดงออกทางความคิดเห็นและพูดคุยโต้ตอบกับคนในรุ่นเดียวกัน แต่ภาพจากเอกสารที่หลุดออกมานั้นก็แสดงให้เห็นว่าทางบริษัทกำลังพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ ออกมาอยู่เหมือนกัน

ฟีเจอร์ใหม่ที่อาจได้ใช้งานกันในอนาคต
ภาพจาก : https://www.theverge.com/22743744/facebook-teen-usage-decline-frances-haugen-leaks

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัท Facebook ก็จำเป็นที่จะต้องปรับตัวและพัฒนาแอปพลิเคชันภายใต้การดูแลของบริษัทเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพราะสำหรับตอนนี้กระแสการเติบโตของแพลตฟอร์มที่เป็น Social Game อย่าง Fornite หรือ Roblox ที่ผู้ใช้สามารถที่จะสร้างอวตาร์ของตนเองแบบ 3 มิติขึ้นมาเพื่อใช้ในการออนไลน์ได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยก แตกต่าง หรือถูกกีดกันจากสังคมและเป็นเป้าของการกลั่นแกล้งเนื่องจากรูปร่างหน้าตาของพวกเขา อีกทั้งยังได้ความสนุกสนานจากการเล่นเกมร่วมกับเพื่อน ๆ และสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างง่ายดายคล้ายกับการใช้งาน Social Media ก็น่าจะเป็นอีกคู่แข่งสำคัญที่ Facebook จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

ถึงเวลาของ Facebook ที่จะรีแบรนด์ใหม่ (Rebrand)

ซึ่ง ณ ตอนนี้ทางบริษัทก็ได้ทำการ Rebranding ใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อบริษัทหลักจาก Facebook เป็น Meta แล้วเป็นที่เรียบร้อย พร้อมเผยว่าจะเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่อย่าง Metaverse ที่ผู้ใช้สามารถเล่นเกม, พูดคุย, หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันทั้งในรูปแบบ 2 มิติ (การใช้งานทั่วไป) และแบบ 3 มิติที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์เสริมอย่าง Oculus ที่จะเปิดประสบการณ์ใหม่ในการใช้งานโซเชียลมีเดียไปอย่างสิ้นเชิง

ไม่แน่ว่าการเปิดตัวของ Metaverse ที่เป็นแพลตฟอร์มใหม่นี้ก็อาจช่วยลดระยะห่างของช่วงอายุผู้ใช้งาน Facebook ลงและดึงกลุ่มวัยรุ่นกลับมาใช้งานแอปพลิเคชันได้มากขึ้นเพราะมีลูกเล่นใหม่ ๆ ที่ดูน่าสนใจและน่าดึงดูดมากกว่าเดิม หรือไม่แน่ว่าหากเปิดตัว Metaverse อย่างเป็นทางการแล้วมันอาจแยกตัวออกจาก Facebook ไปเลยก็เป็นได้ ซึ่งหากผลออกมาไม่เป็นตามที่หวังไว้ทางบริษัทก็อาจปรับแผนและเปลี่ยนให้ Facebook เป็นแอปพลิเคชันสำหรับกลุ่มวัยทำงาน - วัยกลางคนและเลือกที่จะยื้อลูกค้าในกลุ่มวัยรุ่นเอาไว้แค่บน Instagram แทนก็เป็นได้